ประเพณีการตายของชาวจีนในจังหวัดภูเก็ต

%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%a8%e0%b8%9e%e0%b8%88%e0%b8%b5%e0%b8%99

ชาวจีนให้ความสำคัญกับประเพณีการตายโดยเฉพาะพิธีศพของบุพการี ผู้เป็นบุตรหลานจะต้องจัดอย่างดีที่สุดเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตา มีความละเอียดซับซ้อนสะท้อนภูมิปัญญาเก่าแก่ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ เพื่อให้เกียรติแก่ผู้ตายและส่งผู้ตายไปยังภพภูมิที่ดี และบุตรหลานที่ยังมีชีวิตอยู่มีความเจริญรุ่งเรือง รักใคร่สามัคคีกัน เมื่อชาวจีนอพยพไปอยู่ที่ใดก็นำเอาขนบธรรมเนียมประเพณีของชนชาติตนไปปฏิบัติ แม้ว่าชาวจีนที่เดินทางเข้าสู่ภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นฮกเกี้ยน การจัดพิธีศพเป็นไปตามแบบของชาวจีนฮกเกี้ยน แต่ก็มีขั้นตอนพิธีกรรมคล้ายคลึงกันกับชาวจีนภาษาอื่นๆ ต่างกันแต่รายละเอียดปลีกย่อย

การแต่งตัวให้ศพ

ชาวจีนนิยมจัดพิธีศพที่บ้านของผู้ตาย ลูกหลานจะอาบน้ำแต่งตัวและตั้งศพไว้ในบ้าน 1 คืน การแต่งตัวศพ ผู้ชายนิยมใส่ชุดท่อนบน(เสื้อ) 4 ตัว ชุดท่อนล่างเป็นกางเกง 2 ตัว รวมกันเป็น 6ชิ้น ผู้หญิงนิยมใส่ชุดท่อนบน 4 ตัว ชุดท่อนล่างเป็นกางเกง 2 ตัว ชิ้นนอกสุดเป็นผ้าถุงหรือเป็นชุดกระโปรงแบบจีน รวมเป็น 7 ชิ้น (ผู้ชายเป็นคู่ผู้หญิงเป็นคี่) ชิ้นนอกสุดนิยมเป็นสีม่วงเข้มการสวมเสื้อ 4 ตัวนั้น คนจีนสมัยก่อนจะนิยมเย็บเสื้อของตัวเองเตรียมไว้สำหรับสวมในวันตาย โดยชั้นในสุดมักเป็นชุดขาว ชั้นนอกเป็นการแต่งกายให้ผู้ตายดูดีมีเกียรติที่สุด การสวมเสื้อผ้าให้ผู้ตายนั้นมีพิธีที่เรียกว่าโถ้ซ้า套衣โดยลูกชายคนโตต้องไปยืนบนเก้าอี้เตี้ยๆ ที่หน้าประตูบ้าน สวมหมวกสานไม้ไผ่ บนหมวกปักดอกกุหลาบแดง ตะเกียบ 12 คู่(เสียบบนหมวก) ยืนกางแขนหน้าบ้านถือเชือก(เพื่อเวลาถอดจะได้ดึงเชือกออกมาพร้อมกัน)ให้คนทำพิธีสวมเสื้อให้ทีละชิ้น เสร็จแล้วถอดเสื้อทั้งหมดออกพร้อมกัน จากนั้นลูกชายเดินออกมาแล้วขว้างหมวกขึ้นไปบนหลังคา แล้วจึงนำเสื้อไปสวมให้แก่ผู้ตาย “คนเป็นสวมกระดุมไว้ข้างหน้า คนตายสวมกระดุมไว้ข้างหลัง”หมายถึงการสวมเสื้อให้ผู้ตายจะสวมเอาด้านหลังของเสื้อมาไว้ด้านหน้า นอกจากเสื้อผ้าแล้วยังสามารถสวมหมวก รองเท้า ถุงมือให้ผู้ตายอย่างเต็มยศ และต้องวางมุก 1 เม็ดไว้ที่หน้าผากของผู้ตาย มุกเปรียบเหมือนแสงสว่างติดไว้ที่หน้าผากเพื่อนำทางหรือเปิดทางให้ผู้ตายเดินทางไปสู่ปรโลก (ชาวกวางตุ้งนิยมนำหยกใส่ลงไปในปากของผู้ตาย)