ข้อมูลดีๆเกี่ยวกับพิธีทำศพซึ่งทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

7

การบอกทาง เมื่อเชื่อแน่ว่าผู้ป่วยต้องถึงแก่กรรม หรือมีการบอกให้ทราบว่าจะถึงแก่กรรมในระยะอันใกล้นี้แล้ว ผู้พยาบาลต้องจัดหาดอกไม้ธูปเทียนใส่กรวยใบตองให้ผู้ตายถือไว้ และบอกให้รำลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ กับให้ทำใจให้สงบ ไม่กระวนกระวาย เพื่อว่าให้ผู้ตายได้ตายด้วยความสงบทั้งทางร่างกายและจิตใจจริง ๆ การปฏิบัติเมื่อตายแล้ว เมื่อสิ้นลมหายใจ ให้จุดเทียนไว้ข้างศพ โดยใช้เทียนขี้ผึ้งมีไส้ 7 ไส้ เมื่อเทียนเล่มนั้นจุดหมดดับแล้ว ผู้ตายไม่ฟื้นขึ้นก็เชื่อได้ว่าตายแน่แล้ว ถ้าเอาศพเข้าโลงไม่ทันต้องเอาไว้ข้ามคืน ให้เอาผ้าคลุมศพไว้ และอยู่ตามไฟ กับระวังอย่าให้แมวกระโดดข้าม เพราะถือกันว่าผีจะแรง การอาบน้ำศพ ก่อนเอาศพใส่โลงต้องทำพิธีอาบน้ำศพเสียก่อน ตอนแรกอาบด้วยน้ำอุ่น แล้วอาบด้วยน้ำเย็น ฟอกศพด้วยผิวมะกรูดแล้วล้างให้สะอาด เช็ดถูให้แห้งแล้วตำขมิ้นชันสดกับผิวมะกรูดขัดให้ทั่วอีกทีหนึ่ง แล้วแต่งตัวศพด้วยเสื้อผ้าใหม่ ถ้าจะมีการรดน้ำศพอีก ก็เอาศพขึ้นวางบนเตียง จับแขนข้างหนึ่งให้ทอดออกมา ผู้มารดน้ำศพก็เอาน้ำหอมหยดลงที่ฝ่ามือของศพ อธิษฐานในใจให้อโหสิกรรมที่อาจจะมีอยู่แก่กันเสีย

การเอาศพใส่โลง ก่อนเอาศพใส่โลงให้ตำหมากใส่ในปากศพคำหนึ่ง แล้วหาเงินบาทหรือแหวนทองคำใส่ลงไปในปาก เอาขี้ผึ้งหนาประมาณครึ่งนิ้วกว้างพอดีกับหน้าของศพปิดหน้าศพไว้เพื่อกันอุจาดนัยน์ตา เอากรวยดอกไม้ธูปเทียนใส่มือ แล้วตราสังข์ศพด้วยผ้าขาว ยกไปวางในโลง ปิดฝาโลงให้เรียบร้อย การตั้งศพทำบุญ การตังศพทำบุญจะทำที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ตอนค่ำมีการนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรมเป็นประจำทุกคืนจนกว่าจะถึงวันกำหนดทำพิธีเผา หรือเก็บศพไว้เผาทีหลังการเผาศพ เมื่อถึงวันเผาศพยกศพไปตั้งในศาลา นิมนต์พระมาสวดบังสุกุล ถ้ามีเทศน์ก็เทศน์เสียก่อนบังสุกุล หามโลงเวียนเชิงตะกอน 3 รอบแล้วเอาขึ้นตั้งบนเชิงตะกอน ให้พระจุดไฟเผาก่อนคนไปร่วมด้วยจึงจุดไฟเผาทีหลัง ในตอนนี้อาจจะมีการสวดหน้าไฟด้วยก็ได้ การเก็บกระดูก ศพมักเผาในตอนเย็น รุ่งเช้าจึงมีการเก็บกระดูก และนิมนต์พระมาตักบาตรปากหลุม เป็นเสร็จพิธี